วันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2556

การสังเคราะห์ข้อความ

แบบบันทึกการเขียนเชิงสังเคราะห์
                                                                                                                                                                                                                        ชื่อ  นางปรีดา  พ่วงกิ่ม
                                                                                                                                            
ความหมายของภาวะผู้นำ

------------------------------------

Total Quality Management

การบริหารคุณภาพทั้งองค์การ
 (Total Quality Management ; TQM)
                                                                                                                                                                ปรีดา  พ่วงกิ่ม
                                                                                                                                                                 5577701012
การเรียกชื่อ TQM
                      Total quality management หรือใช้คำย่อว่า TQM ซึ่งการเรียกชื่อภาษาไทยค่อนข้างหลากหลาย อาทิ การบริหารคุณภาพแบบเบ็ดเสร็จ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2546) การบริหารคุณภาพโดยรวม การบริหารคุณภาพทั้งองค์การ การบริหารคุณภาพที่ทุกคนมีส่วนร่วม และทีคิวเอ็ม                 (เรียกทับศัพท์)

คำนิยาม
1.        คำนิยามเชิงคุณลักษณะ 
                            การบริหารคุณภพทั้งองค์การ  หมายถึงรูปแบบของระบบบริหารจัดการที่เน้นคุณภาพ  โดยพัฒนากระบวนการดำเนินงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดด้วยเทคนิคการจูงใจให้ทุกคนในองค์การมีส่วนร่วม  มีความผูกพัน  มีการกระจายหน้าที่อย่างเป็นธรรม  และมุ่งไปข้างหน้า  เพื่อให้การปฏิบัติถูกต้องตั้งแต่เริ่มแรกและตลอดไปจนครบทุกขั้นตอน  และไม่ต้องมีหน่วยงานตรวจสอบ (วิทยากร  เชียงกูล, 2547, 228-229; Mathis & Jackson, 1997, 77; Hellsten & Klefsjo, 2000; Cao Clark & Lehancy, 2000 และ Besterfile, 2004, 23)
2.        คำนิยามเชิงสรุปรวม
      การบริหารคุณภาพทั้งองค์การ  หมายถึง  ระบบบริหารจัดการที่เน้นคุณภาพ                           โดยเปลี่ยนแปลงกระบวนการดำเนินงานให้ทุกคนในองค์การมีส่วนร่วมและใส่ใจทำให้ดีที่สุดตั้งแต่เริ่มต้นจนจบด้วยประสิทธิภาพสูงสุด
3.        คำนิยามเชิงแยกส่วน
                            การบริหารคุณภาพทั้งองค์การ  ภาษาอังกฤษใช้คำว่า Total Quality Management     หรือ TQM  โดยมีคำสำคัญอยู่ 3 คำ คือ total หมายถึงการทำทั้งหมด (make up the whole) เช่น  ทั้งหมดทุกคนทุกระดับในบริษัท  ในหน่วยงาน  และในองค์การ ฯลฯ คำว่า quality  หมายถึง  ระดับของความเป็นเลิศที่จะทำงาน  ทำการผลิต  หรือการให้บริการ (degree of excellence a product or service provides) และคำว่า management  หมายถึง  การกระทำ  การแสดง  ศิลปะท่าทาง  กริยาท่าทางในการจัดองค์การ  ควบคุม  อำนวยการ (act, art, or manner of handing, controlling, direction, etc)

ปรัชญา
                      การบริหารคุณภาพทั้งองค์การ  มุ่งให้ทุกคนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดตั้งแต่เริ่มต้นและตลอดไป  มุ่งพัฒนาบทบาทขององค์การให้ก้าวไปข้างหน้าและมุ่งผลงานที่มีคุณภาพสนองความต้องการได้ดีที่สุด (Hashmi, 2006, 3; Fitzgerald, 2007, 2-3 และวิทยากร เชียงกูล, 2547, 229) การบริหารคุณภาพทั้งองค์การเป็นหัวใจสำคัญที่สุดสำหรับการพัฒนาและรักษาระบบกับมาตรฐาน เพื่อให้กลไกหรือระบบการปฏิบัติงานสอดคล้องกลมกลืน โดยเชื่อมโยงกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือบริการขององค์การ

แนวคิด
                      โดยภาพรวมแนวคิดจากนักวิชาการและนักบริหารคุณภาพทั้งองค์การสามารถประมวลได้เป็นแนวคิดหลัก ๆ (Kruger, 2001, 146-154; Juran, 1989; Ishikawa, Crosby, 1986; Fiegenbaum, 1995; Deming, 1982 และเรืองวิทย์ เกษสุวรรณ, 2547, 116-117) ดังนี้
1.        แนวคิดการยึดคุณภาพเป็นแกนหลัก  โดยสร้างกระบวนการปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่อง  เพื่อช่วยสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับกระบวนการปรับปรุงคุณภาพและเพื่อตอบสนองการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมและการแข่งขันได้ทันเหตุการณ์
2.        แนวคิดการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมขององค์การ  โดยทุกคนมีส่วนร่วมทั้งผู้บริหารและผู้ใต้บังคับบัญชาให้สามารถครอบคลุมได้ในทุกส่วนและทุกระดับในองค์การ  เน้นการทำงานเป็นทีมโดยบุคลากรที่ประสบความสำเร็จเป็นแกนนำ
3.        แนวคิดในการใช้กิจกรรมทั้งหมดเป็นแนวทางการบริหาร  โดยปรับปรุงประบวนการทำงานมุ่งเน้นคุณภาพด้วยเครื่องมืออุปกรณ์เทคนิคต่าง ๆ  เพื่อหาทางลดความผิดพลาด “ของเสีย” ให้เท่ากับศูนย์ (defect is zero) ทั้งนี้บุคลากรในองค์การทุกคนต้องตั้งมั่นที่จะ “ทำให้ถูกต้องตั้งแต่แรกและตลอดไป (Get it right from the start and forever)
4.        แนวคิดการพัฒนาบุคลากร  โดยที่ทุกคนมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน  ทุกคนจึงต้องเข้าใจระบบคุณภาพที่ได้ดำเนินอยู่  ต้องทำให้การปรับปรุงคุณภาพกลายเป็นนิสัยทั่งองค์การและรำลึกอยู่เสมอว่าต้นทุนกับคุณภาพมีผลกระทบต่อกันเสมอ
5.        แนวคิดสร้างความพึงพอใจแก่ทุกฝ่าย  โดยดำเนินงานให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายขององค์การและเป็นไปตามจุดประสงค์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรวมทั้งผู้รับบริการ  เลิกใช้วิธีการไล่ตามแก้ปัญหาซึ่งไม่ค่อยได้ผล  แต่เปลี่ยนเป็นวิธีการทำให้ทุกคนเข้าใจและผูกพันกับการจัดการคุณภาพทั้งองค์การ

ความเป็นมา
                      การบริหารคุณภาพทั้งองค์การ  มีวิวัฒนาการมาจากแนวคิดเรื่อง “คุณภาพ” ตามคำอธิบายของโกทช์และเดวิส (Goetch and Davis) ในหนังสือเรื่อง Introduction to total quality โดยเริ่มขึ้นเมื่อปี 1903 เฟรเดอริค เทย์เลอร์ (Frederick Taylor) ชาวอเมริกันได้เริ่มสอนวิธีบริหารโรงเรียนโดยใช้หลักทางวิทยาศาสตร์ ปี 1924  ดร.เชวาร์ท (Dr.Shewhart) ได้เียนและเผยแพร่ตำราเรื่อง “การควบคุมสินค้าอุตสาหกรรมอย่างมีระบบ” ปี 1940 เดมมิง (W. Edward Demming) ได้นำหลักสถิติมาใช้ในการบริหารให้เกิดคุณภาพ ในปี 1949 ญี่ปุ่นได้ก่อตั้ง “สหภาพวิทยาศาสตร์และวิศวกรญี่ปุ่น” และได้พัฒนากลุ่มคุณภาพขึ้นจนถึงขั้น “การควบคุมคุณภาพทั้งองค์การ (total quality control; TQC) ปี 1950  เดมมิงได้นำ “หลักคุณภาพ” ไปเผยแพร่ให้กับวิศวกรและผู้บริหารระดับสูงของญี่ปุ่นและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลาย  ปี 1970  ครอสบี (Crosby) ได้เผยแพร่แนวคิด “ความผิดพลาดเป็นศูนย์ (Zero defect; ZD)”      ปี  1979 เดมมิงได้ตีพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับการผลิตและการแข่งขันทางคุณภาพ  และในปี  1984  ครอสบี       ก็ได้เผยแพร่หนังสือเกี่ยวกับศิลปะในการบริหารอย่างมีอิสระและปราศจากน้ำตา  ในปี  1988                ทางการทหารของสหรัฐอเมริกาได้นำแนวคิด “คุณภาพทั้งองค์การ” มาใช้ในกองทัพ  ในที่สุดแนวคิด “คุณภาพโดยรวม (total quality)” ได้กลายเป็นกระบวนวิชาที่มีการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย       สหรัฐอเมริกาและแพร่หลายไปยังนานาประเทศ

องค์ประกอบ
                      การบริหารคุณภาพทั้งองค์การ  ควรประกอบด้วยส่วนงานการปฏิบัติตามหน้าที่  กิจกรรมในองค์การ  หรือแนวคิดและหลักคิดที่เกี่ยวข้องกับการบริหารคุณภาพทั้งองค์การดังนี้
1.         การวางแผน  ถือเป็นกระบวนการ “ต้นน้ำ” ของการบริหารคุณภาพทั้งองค์การ
2.        การมีภาวะผู้นำ  ต้องผ่านการฝึกอบรม  เรียนรู้  และใส่ใจกับงานคุณภาพมาโดยลำดับ
3.        การมีโครงสร้างการบริหาร  ซึ่งต้องสอดคล้องกับกระบวนการการปรับปรุงการทำงาน
4.        การมีความรับผิดชอบที่ตรวจสอบได้  ถือเป็นบรรทัดฐานการควบคุมคุณภาพเกี่ยวกับความไว้วางใจและความพึงพอใจ
5.        การมีทีมงานที่มีประสิทธิภาพ  ให้ทุกคนในองค์การได้มีส่วนร่วม(Employees Involvement) และนำไปสู่การปูนบำเหน็จความดีความชอบ
6.        การให้ความสำคัญกับลูกค้าและผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Customer Oriented) เน้นการสำรวจความต้องการของลูกค้า  ผู้รับบริการ  และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่เสมอ
7.        การปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง(continuous improvement) เพื่อยกระดับเป้าหมายให้สูงขึ้น  เน้นการให้ความรู้และฝึกอบรมแก่บุคลากรทุกคน

วัตถุประสงค์ที่สำคัญที่สุดของ TQM
1. การมุ่งความสำคัญของลูกค้าหรือผู้รับบริการ (customer focus) โดยผู้ปฏิบัติงานจะต้องระบุให้ชัดเจนว่างานแต่ละเรื่องใครเป็นลูกค้าและมุ่งทำให้บุคคลเหล่านั้นพึงพอใจ
2. การปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง (continuous improvement) เพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. การให้ทุกคนมีส่วนร่วม (total involvement) โดยทุกคนต้องรับผิดชอบงานที่ได้รับมอบหมายและรับผิดชอบในผลงานโดยรวมขององค์การ

การนำหลักการบริหารคุณภาพทั้งองค์การมาประยุกต์ใช้
                      การนำหลักการบริหารคุณภาพทั้งองค์การมาประยุกต์ใช้  จำเป็นต้องทำความเข้าใจและยึดมั่นในหลักการสำคัญ 3 ประการ  คือ 1) การมุ่งความสำคัญที่ผู้รับบริการ  2) การปรับปรุงกระบวนการทำงานอย่างต่อเนื่อง  และ 3) การให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมรับผิดชอบ  ขณะเดียวกันยังต้องคำนึงถึงองค์ประกอบที่จะทำให้เกิดเป็นระบบการบริหารคุณภาพทั้งองค์การ  ซึ่งมีอยู่ 7 ประการด้วยกัน  คือ 1)  ภาวะผู้นำของหน่วยงาน 2) การศึกษาและฝึกอบรม  3)  การจัดโครงสร้างบริหารงาน 4)  การสื่อสารที่ดี  5)  การให้รางวัลและความชอบ  6)  การวัดผลการปฏิบัติงาน  และ 7)  การทำงานเป็นทีม
                      การนำ TQM มาประยุกต์ใช้ในการบริหารคุณภาพทางการศึกษา องค์การทางการศึกษาซึ่งหมายถึงโรงเรียน วิทยาลัย และมหาวิทยาลัย สำหรับประเทศไทยนั้นมีค่อนข้างจำกัดจะมีอยู่บ้างเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งแตกต่างกับประเทศพัฒนาทั้งหลายที่นำ TQM มาใช้ทั้งในระดับประถมและมัธยมศึกษา สำหรับโรงเรียนระดับประถมศึกษามักเลือกใช้ในองค์ประกอบที่เกี่ยวกับ “ภาวะผู้นำและการมอบอำนาจ” ขณะที่ในระดับมัธยมศึกษาเน้นที่ประเด็นการสำรวจข้อมูล  การสร้างความสัมพันธ์กับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกโรงเรียนโดยเฉพาะในการวัดคุณภาพ  การมอบอำนาจ  และการเรียนรู้กระบวนการ  องค์ประกอบส่วนที่เป็น “ทีมงาน” สำหรับสถานศึกษาเน้น “ การมีส่วนร่วมพัฒนา” โดยเฉพาะการจัดทำหลักสูตรเพื่อให้การจัดการศึกษามีความเข้มแข็งพอที่จะสร้างสรรค์ “คุณภาพ”          ได้ตามเกณฑ์  ทีมงานยังคงมีความสำคัญต่อการจัดการวัฒนธรรมองค์การ นอกจากนี้การปรับปรุงคุณภาพอย่างต่อเนื่องและการนำองค์การสู่เป้าหมาย  ถือว่ามีบทบาทสำคัญต่อองค์การที่เป็นสถานศึกษา  และในอีกกรณีหนึ่งการนำหลักการบริหารคุณภาพทั้งองค์การมาใช้ในด้านการบริหารการศึกษาก็คือการประเมินคุณภาพสถานศึกษาในส่วนที่เป็นการประเมินตนเองนั้นสามารถใช้กระบวนการการวิเคราะห์เปรียบเทียบผลิตภัณฑ์  การบริการ  และการทำงาน  เพื่อนำไปสู่ความเป็นเลิศขององค์การ (Newby, 1998; Baldwin, 2002; Sallis, 2002, 27 และวีรพจน์  ลือประสิทธิ์สกุล, 2546, 36)  








เอกสารอ้างอิง

เรืองวิทย์  เกษสุวรรณ.  (2545).  การจัดการคุณภาพ :  จาก  TQC  ถึง  TQM,  ISO  9000  และ
                      การประกันคุณภาพ.  กรุงเทพฯ : บพิธการพิมพ์.
วิทยากร  เชียงกูล. (2547).  อธิบายศัพท์การบริหารจัดการสมัยใหม่  (พิมพ์ครั้งที่ 3).  กรุงเทพฯ :
                      สายธาร.
วีระยุทธ  ชาตะกาญจน์.  (2555).  เทคนิคการบริหารสำหรับนักบริหารการศึกษามืออาชีพ  (พิมพ์
                      ครั้งที่ 3). กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
Besterfield, D.H.  (2004). Quality control.  Upper Saddle River, NJ: Pearson Prentice Hall.
Crosby, P.B.  (1986). Quality is free.  New York:  McGraw - Hill.
Deming, W.E.  (1982). Quality productivity and competitive position. Cambridge:
                      Center for advance engineering, Massachusetts Institute of technology.
Feigenbaum, A.V.  (1995). Total quality control (3rd ed.).  New York: Prentice – Hall.
Fizgerald, R. (n.d.) Total quality management in education.  Retrieved 2007, April 30, from
                      http://www.minuteman.org/tgm/total  quality management.htm.
Hashmi, K.  (n.d.).  Introduction and implementation of total quality management
                      (TQM). Retrieved.  2006, May 4, from http://www.issixsigma.com/Tam/
                      Introduction and implementation of total quality management (TQM). htm.
Hellsten, U.  &  Klefsjo,  B.  (2000). TQM as a management system consisting of values,
                      Techniques and tool.  The TQM magazine, 12(4).
Juran, J.M.  (1989). Juran of leadership for quality.  New York: Free Press.
Sallis, E.  (2002). Total quality management in education (3rd ed.).  London: Kogan Page. 
                 อ้างถึงใน  รุ่งชัชดาพร  เวหะชาติ.  (2548).  การพัฒนารูปแบบการบริหาร
                      คุณภาพทั้งองค์การของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน.  วิทยานิพนธ์ปริญญาการศึกษา
                      ดุษฎีบัณฑิต  สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา.